9 ปรากฏการณ์ธรรมชาติของอัญมณี น่ารู้

Blaufluss_Aventuringlas

          ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับชาย หรือหญิง ที่เราสวมใส่นั้นมักมีอัญมณีเม็ดงามเป็นส่วนประกอบ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ความงามของธรรมชาติที่เห็นนั้น เกิดจากปรากฏการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ทำเห้เป็นลักษณะพิเศษ เช่น ตำหนิในอัญมณี (Inclusions) โครงสร้างทางกายภาพของอัญมณี (Physical Structure) หรือ การดูดกลืนของแสงในอัญมณี (Selective Absorption) เป็นต้น วันนี้ TMK MEN จะพาคุณไปดู 9 ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับอัญมณี มีอะไรบ้าง

1.สาแหรกหรือออสตาร์ (Asterism or Start)
          มักพบในอัญมณีจำพวก พลอยสตาร์ทับทิม (Start Ruby) หรือ สตาร์ซัฟไฟร์ (Start Sapphire) เกิดปรากฏการณ์นี้เมื่อแสงสะท้อนจากตำหนิเส้นเข็มใหญ่ในอัญมณีตัดกันมากกว่า 1 ระนาบ

2.ตาแมว (Chatoyancy or Cat’s eye)
          มักพบในอัญมณีจำพวก พลอยคริสโซเบอริลตาแมว (Cat’s eye Chrysoberyl) ควอทซ์ตาแมว (Cat’s eye Quartz) หรือทัวมาลีนตาแมว (Cat’s eye Tourmaline) ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อแสงสะท้อนจากตำหนิเส้นขนานกัน 1 ระนาบ

3.อะเวนจูเรสเซนส์ (Aventurescence)
          มักพบในอัญมณีจำพวกพลอย เช่น พลอยซันสโตน ออลิโกเคลส (Sunstone Oligoclase) ซึ่งมีแผ่นคอปเปอร์ (Copper Platelet) หรือแผ่นเฮมาไทท์ (Haematite Platelet) พลอยอะเวนจูรีน ควอทซ์ (Aventurine Quartz) ซึ่งมีแผ่นฟุคไซท์ ไมก้า (Fuchsite Mica Platelet) เกิดปรากฏการณ์นี้เมื่อแสงสะท้อนจากตำหนิเล็กๆของแผ่นแร่ เป็นเกร็ดระยิบระยับในตัวอัญมณี

4.การเปลี่ยนสี (Change of Colour)
          มักพบในอัญมณีจำพวกพลอยอเล็กซานไดร์คริสโซเบอริล (Alexandrite Chrysobery) หรือ พลอยซัฟไฟร์เปลี่ยนสี (Alexandrite-like Sapphire) ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากการดูดกลืนของแสง

5.การเล่นสี (Play of Colour)
          มักพบในอัญมณีจำพวกพลอยโอปอล์ (Opal) และ โอปอลสังเคราะห์ (Shythetic Opal) เกิดปรากฏการณ์นี้เมื่อแสงส่องผ่านกระทบบนธาตุซิลิคอนจึงเกิดเป็นลักษณะหย่อมๆ มีสีแดง สีน้ำเงิน เป็นต้น เนื่องจากโครงสร้างภายในประกอบด้วยซิลิคอนทรงกลม (Silicon Sphere) นั่นเอง

6.แลบบราโดเรสเซนส์ (Labradorescene)
          มักพบในอัญมณีจำพวกพลอยแลบบราโดไรท์ เฟลด์สปราร์ (Labradorite Feldspar) เกิดปรากฏการณ์นี้เนื่องจากเส้นระนาบแฝด (Repeated Twinning) อยู่ในผลึกบางชนิด เมื่อแสงส่องผ่านหรือแทรกเข้ามาจึงเกิดเป็นสีฟ้า และสีเขียวเหลือบไปบนผิวอัญมณี

7.อะดูลาเรสเซนต์ (Adularescence)
          มักพบในอัญมณีจำพวกพลอย มูนสโตน ออโธเคลส (Moonstone Orthoclase) หรือที่คนไทยเรียกว่า “พลอยมุกดาหาร” เกิดปรากฏการณ์นี้เมื่อสีด้านในตกผลึกเป็นลักษณะชั้นๆและมีความหนาของแต่ละชั้นสีไม่เท่ากัน เมื่อแสงส่องผ่านกระทบชั้นสี จึงเกิดเป็นลักษณะแผ่นสีขาวหรือฟ้าเหลือบมาบนผิวพลอย

8.อิริเดสเซนต์ (Iridescence)
          มักพบในอัญมณีจำพวกพลอยไฟอะเก็ท (Fire Agate Chalcedony) เกิดปรากฏการณ์นี้เมื่อแสงส่องผ่านและการแตกกระจายของแสงอยู่ที่ผลึกด้านใน

9.โอเรียนท์ (Orient)
          มักพบในไข่มุกและเปลือกหอยบางชนิด เกิดปรากฏการณ์นี้เมื่อแสงส่องผ่านและกระทบผิวทำให้แสดงออกมาเป็นสีรุ้ง